โครงการจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14
(The Fourteenth Thailand Chemistry Olympiad, 14th TChO)

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา
ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้รับผิดชอบโครงการ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ระยะเวลาการแข่งขันและสถานที่ ผู้เข้าร่วมโครงการ วิธีดำเนินการ รูปแบบการแข่งขัน ผลที่คาดว่าจะได้รับ

หลักการและเหตุผล

มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ ในระดับนานาชาติ มูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบให้มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค 11 แห่ง และโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร 6 โรงเรียน เป็นศูนย์ สอวน. เพื่อดำเนินการอบรมและเตรียมความพร้อม รวมทั้งคัดเลือกนักเรียนเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ ตลอดจนเตรียมครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ให้มีคุณภาพและมีความพร้อมที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2543 โดยมีสาขาที่ดำเนินการ 6 สาขา คือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ และในปีการศึกษา 2547 ได้เพิ่มศูนย์ สอวน. ขึ้นอีก 2 ศูนย์ คือ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และศูนย์ สอวน. โรงเรียนเตรียมทหาร โดยการดำเนินการที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ สอวน. คือ สามารถคัดเลือกนักเรียนจากศูนย์ สอวน. ไปเป็นตัวแทนแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้พัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพของครูจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2548 มูลนิธิ สอวน. ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนให้สาขาวิชาต่างๆ จัดแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศโดยการคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่าย 2 เพื่อเป็นตัวแทนศูนย์ สอวน.ภูมิภาค จำนวน 13 ศูนย์ ศูนย์ละ 6 คน และศูนย์กรุงเทพมหานคร ที่จัดคัดเลือกตัวแทนนักเรียน จำนวน 18 คน รวมทั้งสิ้น 96 คน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา มูลนิธิ สอวน. ยังได้เพิ่มนักเรียนนอกโครงการพิเศษเข้าร่วมการแข่งขันด้วย โดยนักเรียนทั้งหมด มาสอบแข่งขันโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งออกโดยคณะกรรมการวิชาการกลางและมีอาจารย์พร้อมครูสังเกตการณ์ของแต่ละศูนย์ร่วมพิจารณาคัดเลือกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนนตลอดจนประเมินผลและตัดสินผลการแข่งขันด้วยมาตรฐานเดียวกับการแข่งขัน International Chemistry Olympiad (IChO) จัดรางวัลให้เป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และประกาศเกียรติคุณ จากนั้นจึงคัดเลือกนักเรียนที่สอบผ่านเกณฑ์จำนวน 50 คน เพื่อเข้าค่ายเคมีโอลิมปิก ค่ายที่ 1 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ต่อไป สำหรับสาขาเคมีได้ดำเนินการจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน. อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 13 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อ 5 - 9 มิถุนายน 2560 โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติดังกล่าว มูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 ในการนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงขอเสนอโครงการการจัดกิจกรรมแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีกำหนดการจัดการแข่งขันในช่วงวันที่ 11 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี